วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

===Techno Show Case===


                      "Techno Show Case" ก้าวล้ำทางการศึกษา” เป็นชื่องานนิทรรศการที่พวกเราชาวเทคโนโลยีสื่อสาร         การศึกษาจัดขึ้น ใครจะไปเชื่อละคะว่างานใหญ่ๆ แบบนี้นิสิตอย่างเราจะสามารถจัดขึ้นได้ ขอบอกว่าจัดขึ้นได้ดีมากด้วย
มีผู้เข้าชมนิทรรศการของพวกเรากว่า 1,000 คน เลยทีเดียว ที่งานสำเร็จไปได้ด้วยดีนั้นก็เป็นเพราะพวกเราชาวเทคโนฯ ร่วมมือร่วมใจกัน และที่ขาดไม่ได้เลยคือมีที่ปรึกษาที่ดีอย่างท่านอาจารย์นัทธีรัตน์ งานของเราจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15-16 สิงหา ที่ผ่านมาค่ะ จัดขึ้นที่ชั้น 1 อาคารนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยในงานแบ่งออกเป็น 8 บูธ ประกอบด้วย
              1. Do you hear me? ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดรายการวิทยุเพื่อการศึกษา
              2. Tech for teach ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำสื่อการเรียนการสอน
              3. Around the world ให้ความรู้เกี่ยวกับโซเชียลมีเดียกับการศึกษา
              4. Away so far ให้ความรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอนทางไกล
              5. X – ploring tech for fun ให้ความรู้เกี่ยวกับเกมส์การศึกษา
              6. Read me please ให้ความรู้เกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์
              7. See snap ให้ความรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพ
              8. Now you see me ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา

                            วันนี้จะขอพูดถึงบูธRead me please อย่างเดียวนะคะ เหตุผลเพราะผู้เขียนประจำอยู่ที่บูธนี้ค่ะ 
   บูธ Read me please มีผู้ดูแลอยู่ 5 คน คือ แอน เนส พลีม ปอย และผู้เขียนค่ะ ภายในบูธของเราจะให้ความรู้เกี่ยวกับ
สื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ประวัติของสิ่งพิมพ์ กระบวนการผลิตสิ่งพิมพ์ สิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ (E-book) ฯลฯ 
กิจกรรมภายในบูธก็จะมีการWorkshopการออกแบบหน้าปกนิตยสาร การสอนพับกระดาษตามขนาดต่างๆ (สำหรับ
ผู้ที่เข้าร่วม Workshopการออกแบบหน้าปกนิตยสาร เรามีหนังสือนวนิยายและหนังสือนวนิยายแปลแจกเป็นของรางวัลด้วยนะ) ซึ่งกิจกรรมทุกกิจกรรมได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมบูธเป็นอย่างดีคะ จุดเด่นของบูธเราอีกอย่างที่จะไม่พูดถึง
ไม่ได้ คือ เรามีการจัดแสดงผลงานของนิสิตเอกเทคโนฯ เยอะแยะมากมาย ยกตัวอย่างเช่น หนังสือนิทาน โปสเตอร์ หนังสือให้ความรู้ต่างๆ และที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมมากที่สุดคือ นิตยสาร มีแต่คนชื่นชมว่าทำนิตยสารออกมา
ได้สวยเหมือนที่วางขายตามท้องตลาดเลย ได้ยินอย่างนี้พวกเราก็ยิ้มแก้มปริแล้วค่ะ ^_^


                        เล่าถึงความรู้สึกบ้างดีกว่า แรกๆ ก็เครียดนะ คิดไม่ออกว่างานจะออกมาเป็นแบบไหน? จะมีคนเข้ามาดูไหม? ที่สำคัญกลัวว่าจะทำไม่ได้ แต่พอได้ฟังที่อาจารย์พูดบ้าง เพื่อนพูดบ้าง ก็พอจะนึกภาพของงานออกว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน ส่วนบรรยากาศการทำงานในกลุ่ม สนุกดีคะ ได้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เหนื่อยนะ แต่เห็นงานออกมาดีและประสบความสำเร็จพวกเราก็มีความสุขและเกิดความภาคภูมิใจ จะมีใครเชื่อว่าพวกเราจะจัดงานใหญ่ๆ แบบนี้ได้  สุดท้ายท้ายสุดต้องขอบคุณอาจารย์ที่เป็นคนริเริ่มให้พวกเราได้จัดงานนี้ขึ้น เพราะพวกเราได้รับประสบการณ์ที่ล้ำค่าจริงๆ ประสบการณ์เหล่านี้หาไม่ได้จากในตำราเรียนแน่นอนค่ะ




วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

::::: พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก :::::


               เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม "พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก"มาค่ะ ไม่ได้ไปเที่ยวเล่นเฉยๆ นะคะ 
ไปค้นคว้าหาความรู้เพื่อที่จะมานำเสนอให้อาจารย์และเพื่อนๆ ได้ชมกัน ซึ่งการไปศึกษานอกสถานที่ในครั้งนี้              
เราไปกันทั้งหมด 5 คน ประกอบไปด้วย เฟิร์น บอเบีย ปอนด์ เมท และผู้เขียนเองค่ะ



                          ก่อนอื่นขอเล่าประวัติคร่าวๆ ของพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกให้รับทราบกันก่อนนะคะ พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก มีอีกชื่อหนึ่งว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก ซึ่งเจ้าของคืออาจารย์ วราพร สุรวดี ซึ่งได้รับมรดกมาจากคุณแม่(นางสอาง สุรวดี) อาจารย์วราพรได้มอบบ้านและทรัพย์สินภายในบ้าน ให้เป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร เพื่อที่จะจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่ให้ความรู้แก่เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษา พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกจะมีการจัดแสดงของใช้ต่างๆ ภายในอาคาร 3 หลัง ซึ่งสิ่งที่จัดแสดงนั้นสามารถบอกเล่า เรื่องราวเกี่ยวกับ สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของ ชาวบางกอกที่มีฐานะปานกลางในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งข้าวของเครื่องใช้ที่นำมาแสดงส่วนใหญ่จะเป็นของใช้ที่เจ้าของบ้านได้ใช้งานจริง



                   ความรู้สึกแรกตอนที่เข้าไปในรั้วของพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก รับรู้ได้ถึงความร่มรื่น เย็นสบาย มีลมพัดมาเป็นระยะ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าพิพิธภัณฑ์นี้จะตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร เพราะบรรยากาศดีมาก อาคารบ้านเรือนก็ยังคงสภาพเดิมอยู่ ข้าวของเครื่องใช้ก็ยังคงวางไว้เหมือนเดิมแต่ที่แตกต่างไปก็คือความเก่าที่เป็นไปตามกาลเวลา ภายในอาคารแต่ละหลังบอกเล่าเรื่องราวภายในอดีตให้คนรุ่นหลังอย่างเราได้มองเห็นภาพว่าในอดีตชาวกรุงเทพฯ มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร เหมือนเราสามารถย้อนเวลาไปอยู่ในยุคนั้นจริงๆ  ในการไปชมพิพิธภัณฑ์ในครั้งนี้ได้รู้ภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนเยอะมาก เช่น การนำตะไคร้มาวางไว้ในตู้หนังสือเพื่อไม่ให้มด แมลง ปลวก มากัดกินหนังสือ การใช้เหรียญรูมาซ้อมกระจกที่แตกแล้วให้กลับมายึดติดกันเหมือนเดิม เป็นต้น ทุกอย่างล้วนเป็นตัวตนของคนบางกอกจริงๆ ขอบคุณท่านอาจารย์วราพรเป็นอย่างสูงที่อนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ไว้ให้พวกเราได้ชมและศึกษาหาความรู้ ผู้เขียนยังนึกไม่ออกเลยว่าถ้าหากอาจารย์วราพร   ไม่อนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ไว้  เยาวชนคนรุ่นหลังจะศึกษาหาความรู้จากที่ไหนได้ เพราะมองไปรอบๆ ข้าง ก็มีแต่ตึกสูงขึ้นเต็ม  ไปหมด ไม่มีสิ่งใดที่เล่าเรื่องราวความเป็นมาของบางกอกได้เลย 


                    ก่อนจะจบขอทิ้งท้ายไว้สั้นๆ ว่า พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกเป็นแห่งที่บอกเล่าเรื่องราวของความเป็นคนไทย
(ชาวบางกอก)ได้ดีเลยจริงๆ อย่างให้ทุกคนได้เข้ามาสัมผัสกับบรรยากาศเหล่านี้ แล้วคุณจะรู้ว่าชาวบางกอกสมัยก่อนมีชีวิตที่ศิวิไลกว่าชาวกรุงเทพฯสมัยนี้แน่นอนค่ะ




................รายละเอียดเพิ่มเติม..................
พิพิธภัณชาวบางกอกตั้งอยู่ที่... บ้านเลขที่ 273  ซอยเจริญกรุง 43 ถนนเจริญกรุง  เขตบางรัก  กรุงเทพมหานคร
เปิดให้บริการทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์-อังคาร 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02 234 6741 , 02 233 7027







แหล่งข้อมูล...






(((...Online exhibition...)))


               ออนไลน์ ออนไลน์ ออนไลน์ ! ทุกคนคงได้ยินคำคำนี้จนชินแล้วใช่ไหมค่ะ? ทั้งซื้อของออนไลน์ เรียนออนไลน์ เล่นเกมส์ออนไลน์ อะไรๆ ก็ออนไลน์ไปเกือบจะทุกอย่าง แน่นอนว่าเราคงหนีไม่พ้นหรอกค่ะ เพราะยุคนี้         เป็นยุคที่เทคโนโลยีก้าวไกลแบบไร้ขีดจำกัดจริงๆ เพียงแค่คุณมีอินเตอร์เน็ตนั่งหน้าคอมพิวเตอร์มือคลิกเม้าส์เท่านี้             คุณก็สามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้แล้ว ซึ่งถือว่ามีความสะดวกสบาย ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของวัน เวลาและสถานที่         เกริ่นนำยาวเกินไปแล้ว ว ว... เข้าเรื่องเลยก็แล้วกันคะ วันนี้ผู้เขียนจะมาพูดถึง “นิทรรศการออนไลน์” หลายท่าน               คงสงสัยว่า...อุ๊ย! มีด้วยหรอนิทรรศการออนไลน์? ขอตอบเลยคะว่า “มี” และมีมานานแล้วด้วย

                    นิทรรศการออนไลน์ คือ การจำลอง หรือการจัดแสดงเนื้อหาสาระความรู้ ผลงานต่างๆ ในรูปแบบของนิทรรศการผ่านทางเว็บไซค์  โดยในการนำเสนอข้อมูลนั้นอาจจะนำเสนอเป็นข้อความ ภาพ หรือเสียงก็ได้                     
ซึ่งนิทรรศการออนไลน์ถือว่าเป็นสื่อการเรียนรู้ประเภทหนึ่งที่มีลักษณะเป็นสื่อผสม ที่ใช้วิธีการนำเอาเนื้อหาสาระ         
มานำเสนอไว้ให้ผู้ชมได้รับชมเพื่อสร้างทั้งความรู้และความเพลิดเพลิน 

                     จากข้อความข้างต้น ผู้อ่านอาจจะยังนึกภาพไม่ออกว่านิทรรศการออนไลน์เป็นอย่างไรกันแน่ เอาอย่างนี้            ก็แล้วกันคะ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างนิทรรศการออนไลน์หนึ่งนิทรรศการก็แล้วกันคะ เพื่อให้ผู้อ่านมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน นิทรรศการออนไลน์ที่จะนำเสนอคือ “นิทรรศการออนไลน์เรื่องอัญมณีแห่งท้องทะเล” จัดทำโดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ



                                                            ตัวอย่างนิทรรศการออนไลน์เรื่อง "อัญมณีแห่งท้องทะเล"


                        นิทรรศการออนไลน์เรื่องอัญมณีแห่งท้องทะเล เป็นการนำเสนอข้อมูลความรู้เกี่ยวกับหอย เริ่มตั้งแต่วิวัฒนาการของหอย ชีวิตความเป็นอยู่ของหอย เปลือกหอย เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับหอย ซึ่งถือได้ว่าให้ข้อมูลความรู้ได้
ครบถ้วนและสามารถอ่านทำความเข้าใจได้ง่าย การออกแบบนิทรรศการก็ดูน่าสนใจ สามารถดึงดูดให้คนเข้ามาชม
ได้เป็นอย่างดี มีการจำลองภาพเคลื่อนไหวให้เปรียบเสมือนได้นั่งอยู่ที่ทะเลจริงๆ ภาพประกอบทุกภาพสวยงามและ
สมจริง จุดเด่นอีกจุดหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ เวลาคลิกเปลี่ยนหัวข้อต่างๆ จะมีคลื่นพร้อมเสียงคลื่นพัดพาความรู้
มานำเสนอให้ผู้ชมได้อ่านกัน (เข้าชมนิทรรศการออนไลน์เรื่องอัญมณีแห่งท้องทะเลแบบเต็มรูปแบบได้ที่  http://www.nsm.or.th/nsm2008/E-exhibition/shell/index.html)
 
                    ท้ายนี้อยากฝากให้ผู้อ่านทุกท่านเข้ามาอ่านนิทรรศการออนไลน์กันให้มากๆ เพราะในนิทรรศการออนไลน์
ยังมีเนื้อหาสาระที่รอให้ทุกท่านเข้าไปเรียนรู้อีกมากมาย ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน วัน เวลาอะไร เพียงแค่คุณมีอินเตอร์เน็ตคุณก็สามารถเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการออนไลน์ได้แล้วค่ะ
 












แหล่งที่มา....

http://www.gotoknow.org/posts/237781

http://www.nsm.or.th/nsm2008/E-exhibition/shell/index.html




วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556

“ Emoes magazine”

                        วันเวลามันช่างผ่านไปเร็วจริงๆ คุณผู้อ่านว่าไหมคะ  แต่ถึงแม้ว่ามันจะผ่านไปนานแค่ไหนเราก็ยังคงจำเหตุการณ์ที่เคยผ่านมาได้เสมอ เช่นเดียวกับผู้เขียนค่ะ ผู้เขียนยังจำวันแรกของการเรียนวิชาการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ได้ดีคะ อาจารย์ให้นิสิตจับฉลากแบ่งกลุ่มกัน ความรู้สึกแรกที่แวบเข้ามาในสมองคือทำไมต้องจับฉลากล่ะ? และก็มีคำถามต่อมาเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้ทำงานร่วมกับเพื่อนกลุ่มเดียวกันแล้วจะเป็นยังไง ? จะทำงานร่วมกันได้ไหม? แต่ก็ถึงบางอ้อตอนที่อาจารย์บอกว่า “แต่ละกลุ่มจะได้คนที่มีความสามารถในแต่ละด้านมาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ถ้าไม่ทำอย่างนี้คนเก่งๆ ก็จะไปอยู่กลุ่มเดียวกันหมด” ผู้เขียนเริ่มเข้าใจและเปิดใจยอมรับเพื่อนกลุ่มใหม่ โดยกลุ่มของเรามีสมาชิกทั้งหมด 5 คน คือ บิ๋ม เก่ง เนย ปุ๊ยและตัวผู้เขียนเองคะ พวกเราช่วยกันทำงานที่อาจารย์สั่งทุกงานจนกระทั้งงานชิ้นสุดท้ายที่มีความสำคัญต่อพวกเรามากคือการทำนิตยสาร



                            การทำนิตยสารเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับคนที่ไม่เคยทำอย่างพวกเรา แต่พวกเราก็พยายามศึกษาการทำนิตยสารจากหลายๆ แหล่งความรู้ พวกเราช่วยกันวางแผนการทำงานเป็นขั้นตอน เริ่มตั้งแต่หา Themeหลักของนิตยสาร ช่วยกันคิดว่าจะทำออกมาในรูปแบบไหน จะไปสัมภาษณ์ใครบ้าง จะลงพื้นที่หาข้อมูลกันวันไหน ฯลฯ เมื่อพวกเรามีแบบแผนที่ชัดเจนแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการลงมือปฏิบัติจริง ลงพื้นที่จริง ถึงแม้ว่าการลงพื้นที่ในแต่ละครั้งมันจะทำให้พวกเราเหนื่อย แต่พวกเราก็มีความสุขและที่สำคัญที่สุดคือทำให้พวกเราเริ่มสนิทกันมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพวกเราลงพื้นที่เก็บข้อมูลทุกอย่างครบ พวกเราก็เริ่มมาเรียงเนื้อหา ขัดเกลาภาษา ตรวจสอบความถูกต้องของตัวอักษร เมื่อทำขั้นตอนต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นเสร็จเรียบร้อย ต่อไปคือการนำข้อมูลมาทำในPhotoshop เพื่อทำรูปเล่มจริงแล้ว ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญที่สุดและเป็นขั้นตอนที่ทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง แน่นอนที่สุดคือผู้เขียนสามารถใช้ Photoshopในการทำนิตยสารได้ แต่สิ่งนี้ยังไม่สำคัญเท่าได้เรียนรู้ถึงนิสัยใจคอของเพื่อนๆ ในกลุ่มหรอกคะ ณ ตรงนี้พูดได้เลยว่าเพื่อนๆ ในกลุ่มทุกคนน่ารักมาก ช่วยกันคิดช่วยกันทำ ยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อมาทำงานนี้



                                     สำหรับนิตยสารที่ทำเสร็จแล้ว ถึงแม้ว่าในตัวเล่มของนิตยสารจะมีข้อผิดพลาดบ้าง หรือบางกลุ่มอาจจะติผลงานของเราว่าไม่สวย ไม่เหมาะ แต่พวกเราก็ภูมิใจที่เป็นคนทำนิตยสารเล่มนี้ขึ้นมา ไม่มีใครที่เกิดมาแล้วไม่เคยทำผิดหรอกคะ คนที่ไม่เคยทำผิดคือคนที่ไม่เคยทำอะไรมากกว่า 
                                     สุดท้ายนี้...ขอบคุณเพื่อนๆ ที่ร่วมมือร่วมแรงกัน ขอบคุณบิ๋ม เนย  เก่ง ที่อดนอนหลายวันหลายคืนเพื่อจะทำงานให้เสร็จ ขอบคุณปุ๊ยที่เขียนคอลัมน์ดีๆ มากมายให้หนังสือของเรา ขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันทำงานอย่างไร้ปัญหา ขอบคุณที่เข้าใจซึ่งกันและกัน ขอบคุณอาจารย์ที่เปิดโอกาสให้เราได้ทำงานร่วมกัน ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณจากหัวใจจริงๆ รักและอยากร่วมงานกันทุกคนอีกน่ะ ^__^ 








###################################






วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556

---สิ่งพิมพ์ที่ได้รับรางวัล---


                    สิ่งพิมพ์นี้เป็นโปสเตอร์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการประกวดโปสเตอร์รณรงค์สวมหมวกนิรภัยในเด็ก ปี พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของ นางสาวจิภัทรา นุ่มประสพ นักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ผลงานชื่อ “ไม่สวมเท่ากับเสี่ยง” การประกวดนี้ จัดโดย บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด สาขาประเทศไทย ร่วมกับ ชมรมคนห่วงหัว ซึ่งผลงานได้รับการคัดสรรจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ทั้งด้านศิลปะ ด้านความปลอดภัยในเด็ก และด้านหมวกนิรภัย 
                            สำหรับการออกแบบของโปสเตอร์ชิ้นนี้ ถือว่าออกแบบตามหลักการออกแบบโปสเตอร์ที่ดีเลยก็ว่าได้ “ทุกคนคงสงสัยว่า โปสเตอร์นี้ก็ดูธรรมดาๆ ดียังไง สวยยังไงใช่ไหมค่ะ?” ผู้เขียนมีคำตอบค่ะ เรามาร่วมกันวิเคราะห์การออกแบบโปสเตอร์อันนี้กันค่ะ เริ่มจาก “ภาพ” ก่อนเลยค่ะ ภาพเป็นภาพที่จำลองมาจากของจริง เมื่อมองแล้วสามารถเข้าใจได้ทันที (ไม่เหมือนกับภาพ ประเภท abstract ถ้าคนดูไม่มีความรู้ทางด้านศิลปะชั้นสูง ก็ไม่สามารถดูให้เข้าใจได้) ภาพที่นำมาใส่ในโปสเตอร์นี้ เด่น สะดุดตา น่าสนใจและสามารถสื่อความหมายได้ดี “ตัวอักษร” ตัวอักษรโดดเด่น ชัดเจน อ่านง่าย มีระยะห่างของตัวอักษรที่สม่ำเสมอ สีของตัวอักษรไม่กลืนกับสีพื้น ( สีที่ดีที่สุดของตัวอักษรสำหรับโปสเตอร์ที่จะทำให้เห็นได้ชัดและอ่านได้ง่าย คือตัวอักษรสีดำบนพื้นสีเหลือง... “โปสเตอร์นี้ตอบโจทย์ได้ตรงจุดเลยค่ะ”)  ข้อความเป็นข้อความสั้นๆ แต่ได้ใจความ “สีของโปสเตอร์” ใช้สีตัดกันได้ดีค่ะ สีพื้นเป็นสีเหลืองตัดกับสีแดงที่เป็นเลือด เมื่อมองดูแล้วทำให้ภาพดูเด่นขึ้นมาก

                              จากการที่ผู้เขียนกล่าวมาข้างต้นนั้น ผู้อ่านคงพอเข้าใจแล้วใช่ไหมค่ะว่า ทำไม โปสเตอร์ธรรมดาๆ นี้                ถึงได้รับรางวัลชนะเลิศ คำตอบง่ายๆ คือ โปสเตอร์นี้ออกแบบตามหลักการออกแบบไงค่ะ โปสเตอร์ถึงออกมาดูดี ดูเหมาะสมไปทุกส่วน
                                อย่าลืมน่ะค่ะว่า การออกแบบโปสเตอร์หรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ นั้นควรออกแบบตามหลักการการออกแบบ องค์ประกอบต่างๆ จะได้ออกมาเหมาะสมและน่ามองมากที่สุด  หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมออกแบบตามที่ตัวเองชอบโดยไม่ต้องอิงหลักการออกแบบไม่ได้ล่ะ คำตอบคือ ทำได้ค่ะ แต่ระวัง! คนมองข้างผลงานของคุณก็แล้วกันค่ะ เดี๋ยวจะหาว่าผู้เขียนไม่เตือนน่ะค่ะ :P







ขอขอบคุณ.....

http://pr.rmutr.ac.th/wp301/?p=3159







วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อิทธิพลของสื่อสิ่งพิมพ์ "จดหมายลูกโซ่"


                               สื่อสิ่งพิมพ์แต่ละประเภทล้วนมีอิทธิพลต่อชุมชนและสังคมไทยทั้งนั้น แต่จะมีอิทธิพลมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่ที่ความน่าสนใจหรือแรงจูงใจของสื่อสิ่งพิมพ์นั้นๆ
                               “จดหมายลูกโซ่” เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีอิทธิพลต่อคนไทยอยู่ในระดับปานกลางถึงมาก เพราะจดหมายประเภทนี้มักจะเขียนให้คนเชื่อในเรื่องราวที่งมงายไร้สาระ เนื้อความในจดหมายส่วนใหญ่จะเป็นการเล่าเรื่องราวต่างๆ และจะกำหนดเงื่อนไขไว้ให้ผู้ที่ได้รับจดหมายทำตาม เช่น ให้เขียนหรือถ่ายสำเนาส่งต่อๆไปอีก 9, 19, 29 ฉบับ (จำนวนขึ้นอยู่ที่ในจดหมายระบุ) ถ้าไม่ทำตามที่จดหมายบอกจะพบเจอแต่เรื่องที่โชคร้าย หรืออาจทำให้มีอันเป็นไปถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่ถ้าทำตามจะร่ำรวย ถูกหวยรางวัลที่1, 2 เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเนื้อความในจดหมายจะเขียนไปในทางขู่ให้กลัว โดยใช้ความตายมาเป็นเครื่องต่อรอง ซึ่งคนเราทุกคนกลัวความตายกันอยู่แล้ว นี้จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คนที่ได้รับจดหมายลูกโซ่ ส่งจดหมายนั้นๆ ต่อไปเป็นทอดๆ สมัยก่อนรูปแบบของจดหมายลูกโซ่จะเป็นกระดาษธรรมดา โดยใช้วิธีการเขียนคัดลอกหรือถ่ายสำเนาแล้วก็ส่งไปตามบ้าน, ที่ทำงาน, โรงเรียนหรือที่อื่นๆ ตามแต่ผู้เขียนจะส่งไป แต่ในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของคนเรามากขึ้น จึงทำให้รูปแบบของจดหมายลูกโซ่เปลี่ยนไป คือจากจดหมายที่เขียนด้วยกระดาษธรรมดาๆ กลายเป็นการส่งตามอีเมล์ ,เฟสบุ๊ค หรือเขียนไว้ตามเว็บบอร์ดแทน

ตัวอย่างจดหมายลูกโซ่
เรียนท่านผู้โชคดี...
                              ขอให้ท่านนำเรื่องนี้ไปบอกต่อเป็นวิทยาทานท่านจะมีความสุขโชคดีตลอดกาลตำรานี้ใช้แก้โรคมะเร็งจะหายโดยไม่คาดคิดสำหรับมะเร็งภายในถ้าให้รับประทานยานี้จะเห็นผลภายใน 6 วัน ให้ไปซื้อยาที่ร้านขายยาจีนและซื้อ ตัวยาหัวเตย 1 ตำลึง หัวขิง 1 ตำลึง ก้อนเกลือ 2 ช้อน นำมารวมกันแล้วแช่น้ำทิ้งไว้ 1 วันในน้ำ 1 ชามใช้ดื่มทั้งวันทั้งคืนจนหมดชามหลังจากดื่มยานี้แล้วไม่ควรดื่มน้ำมากนำส่วนที่เหลือมารับประทานยานี้จะขับของเสียทางปัสสาวะหรืออุจาระไม่ต้องตกใจเป็นการขับถ่ายสารพิษและของเสียเมื่อออกหมดแล้วจะหายเป็นปกติตำรานี้ห้ามขายหรือคิดค่ารักษาและอย่าเก็บไว้เป็นส่วนตัวเด็ดขาดให้บอกต่อด้วยศรัทธาและกุศลจิตเมื่อท่านทำตามที่บอกข้างต้นปรากฏสิ่งใดจะมีแต่ความสุขสมหวังทุกประการ คุณนิมิตรเจ้าคุณคณะวัดกลางให้ท่านจงบอกเถิดตัวอย่างเช่น
..จังหวัดชลบุรีไม่ยอมบอกต่อก็ถึงแก่ความตาย
คุณเติมศักดิ์ได้รับจดหมายแล้วส่งต่อไป 29 ฉบับ ท่านถูกรางวัลที่ 1 ถึง 2 ฉบับ
คุณเลิศศรีได้รับจดหมายแล้วส่งต่อไป 29 ฉบับครอบครัวหายป่วยและถูกรางวัลที่ถึง 2 ฉบับและมีความสุขมาก
คุณเสรีกิจสมบัติคุณธีรวัฒน์แสงวิกรได้รับจดหมายนี้แล้วทำตามที่พระครูบอกไว้ปรากฏว่าถูกรางวัลที่ 1 ถึง 3 ครั้ง
คุณวิภาวดีอยู่เฉยๆได้รับแล้วไม่ทำตามน้องชายเป็นผู้ส่งแทนน้องชายถูกรางวัลที่1 ถึง 2 ฉบับ
ถ้าท่านได้รับจดหมายแล้วส่งต่อภายใน 7 วันท่านจะโชคดีมากเช่นท่านพระครูสกลรวมโชคอ่านจบแล้วส่งต่อ 29 ฉบับเขียนและนำส่งไปยังที่ต่างห้ามแจกตามหมู่บ้านเป็นอันขาดตำราผีบอกนี้ปิดซองแล้วส่งต่อแล้วซื้อหวยรัฐบาลเลขอะไรก็ได้ที่ท่านชอบขอให้ท่านโชคดี
พระครูวิจิตธรรมโชติ

        โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนไม่มีความเชื่อเรื่องจดหมายลูกโซ่ ไม่กลัวคำขู่และไม่ส่งจดหมายต่อ เพราะคิดว่าถ้าหากว่าเราได้รับจดหมายแล้วส่งต่อไปให้คนอื่น ถ้าคนที่ได้รับจดหมายไม่เชื่อในเรื่องนี้ก็ดีไปเรื่องทุกอย่างก็จะจบ แต่ถ้าคนที่ได้รับเขาเชื่อแล้วก็กลัวกับคำขู่นั้น เขาก็จะทำทุกอย่างตามที่จดหมายขู่ เขาจะความกังวลไปต่างๆ นาๆ ไม่มีความสุข ซึ่งนั้นก็หมายความว่าคนที่ส่งนั้นแหละบาปมาก เพราะเป็นต้นเหตุที่ทำให้คนอีกหลายๆ คนต้องเป็นทุกข์ แต่กว่าผู้เขียนจะคิดได้แบบนี้ ผู้เขียนก็เคยเกือบตกเป็นเหยื่อของจดหมายลูกโซ่มาแล้วเหมือนกัน เรื่องมีอยู่ว่าสมัยที่ผู้เขียนเรียนอยู่ชั้นม.ต้น ผู้เขียนได้รับจดหมายลูกโซ่มาฉบับหนึ่ง ผู้เขียนกังวลใจและกลัวว่าถ้าไม่ทำตามแล้วจะต้องตาย ผู้เขียนจึงนั่งเขียนจดหมายนั้นหลายฉบับมากจนเมื่อยมือไปหมด ท้อและไม่อยากเขียนต่อไปแล้ว ผู้เขียนเลยแกล้งถามพ่อว่า.....

“พ่อเคยได้รับจดหมายลูกโซ่ไหม”
พ่อ          :               เคย
ผู้เขียน   :               แล้วพ่อทำยังไงกับจดหมายล่ะ
พ่อ          :               โยนทิ้งถังขยะ
ผู้เขียน    :               พ่อไม่กลัวหรอ
พ่อ          :               ไม่กลัว เคยได้มาหลายฉบับแล้ว ไม่เคยทำตามเลย ก็ไม่เห็นจะตายนิ
ผู้เขียน   :               เริ่มมีกำลังใจล่ะ
พ่อ          :               พ่อไม่เชื่อเลยเรื่องบ้าบอแบบนี้ แต่มีเพื่อนพ่อที่ทำงานคนหนึ่ง ได้รับจดหมายลูกโซ่แล้วเขากลัวมาก วันๆ ไม่ทำการทำงานนั่งเขียนแต่จดหมาย เพราะเขากลัวว่าจะเป็นไปตามคำขู่ของจดหมายไง แล้วช่วงนั้นน่ะเป็นช่วงที่จดหมายลูกโซ่กำลังระบาดเลย เขาได้กี่ฉบับๆ เขาก็เขียนแล้วส่งต่อไปเรื่อยเลย พ่อว่าเขาน่าสงสารมากน่ะ คนที่ส่งมาจะรู้บ้างไหมว่าทำให้คนหนึ่งคนไม่เป็นอันทำอะไรเลย กลัวและกังวลไปซะทุกเรื่อง ถ้าลูกได้รับจดหมายมาก็ไม่ต้องกลัวน่ะ ทิ้งไปเลยแล้วคอยดูซิว่าจะเป็นจริงตามที่จดหมายบอกไหม
...................หลังจากจบบทสนทนากับพ่อ ก็ทำให้ผู้เขียนตาสว่างเลยค่ะ เลิกเขียน เลิกเชื่อ เลิกงมงายไปเลยทีเดียว.................



                            สุดท้ายนี้ผู้เขียนอยากจะฝากไว้ว่า อย่าปล่อยให้สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เขามามีอิทธิพลกับตัวเรามากจนเกินไป ในการที่เรารับสื่อเข้ามาทุกๆครั้ง ควรคิด ไตร่ตรอง วิเคราะห์ พิจารณาและควรใช้วิจารณญาณในการติดตามสื่อให้มากๆ เพราะสื่อไม่ได้นำเสนอเรื่องราวความจริงทั้งหมด หรือบางทีอาจจะบิดเบือนความจริงไปเลยก็มี เพราะฉะนั้นควรมีสติ คิดและพิจารณาให้ดีก่อนที่จะเชื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง






ขอขอบคุณ...

http://forum.herorangers.com/index.php?topic=4759.0

guru.sanook.com

http://board.palungjit.com/f70/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%87-%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%A3-%E0%B9%82%E0%B8%8A%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99-66052.html